กระดูกร้าวไม่น่ากลัวเท่ากระดูกหัก!

 

กระดูกร้าวไม่น่ากลัวเท่ากระดูกหัก

กระดูกร้าว หรือ กระดูกหัก เป็นอาการที่เมื่อเราได้ยินแล้วต่างก็ต้องตกใจ คำถามต่อไปที่เกิดขึ้นทันทีเลยคือ จะหายไหม? จะรักษาได้หรือเปล่า ชีวิตจะเป็นยังไงต่อไป  วันนี้เรามีคำตอบให้ทุกคนได้สบายใจได้บ้าง แต่ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่ากระดูกร้าวกับกระดูกหักแตกต่างกันอย่างไร

กระดูกร้าว คือ ภาวะที่เกิดขึ้นกับกระดูกที่มีการใช้งานต่อเนื่องซ้ำๆ มีแรงกระแทกซ้ำๆ จนทำให้กระดูกไม่มีเวลาซ่อมแซมตัวเองได้ทัน ส่งผลให้กระดูกชิ้นนั้นเกิดรอยแตกร้าวในระดับอนุภาคขนาดเล็กซึ่งมักมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือในบางครั้งการเอ็กซเรย์กระดูกธรรมดาก็อาจไม่สามารถมองเห็นได้ กระดูกร้าวพบได้ในกระดูกเกือบทุกชิ้นในร่างกาย แต่ที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ กระดูกแข้ง กระดูกเท้า กระดูกต้นขา และกระดูกสันหลัง ซึ่งสาเหตุหลักมักเกิดจากการใช้งานร่างกายอย่างหนัก เช่น ต้องแบกหาม การเล่นกีฬาที่มีแรงกดทับ หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุน

อาการที่เกิดจากกระดูกร้าว กระดูกจะไม่ผิดรูป ไม่มีรอยฟกช้ำและยังคงใช้งานได้ปกติ แต่จะมีความรู้สึก เจ็บ ปวด บวม ทุกครั้งที่มีการใช้งาน เมื่อมีการพักผ่อนหรือหยุดพักการใช้ร่างกาย ก็จะทำให้ กระดูกสามารถฟื้นฟูและประสานตัวเองได้เป็นปกติ อาการที่เกิดขึ้นก็จะค่อยๆ ทุเลาลง  แต่ทั้งนี้ระยะเวลาในการฟื้นตัวก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความรุนแรงที่เกิดด้วย

กระดูกหัก คือ ภาวะที่กระดูกได้รับแรงกระแทกโดยตรงอย่างรุนแรง ทำให้กระดูกบริเวณนั้นเกิดการแตกหัก ซึ่งการแตกหักที่เกิดขึ้นก็มีหลายรูปแบบเช่นกัน  แตกหักแบบมีบาดแผล แตกหักเป็น 2 ชิ้น แตกแบบละเอียด แตกหักแบบผิดรูป ก่อให้เกิดอาการ เจ็บ ปวดอย่างรุนแรง อวัยวะผิดรูป เสื่อมสมรรถภาพในการใช้งาน รวมทั้งมีเลือดออกและได้รับบาดเจ็บบริเวณรอบกระดูกที่ได้รับแรงกระแทก

วิธีการรักษา อาจทำได้โดยการจัดเรียงกระดูก ใส่เฝือก และผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงที่ได้รับ หากกระดูกแตกหักในลักษณะผิดรูปก็อาจก่อให้เกิดความทุกพลภาพถาวรได้

เราทราบกันแล้วใช่หรือไม่ว่า อาการของกระดูกร้าวกับกระดูหักแตกต่างกันอย่างไร ดังนั้นเราจึงควรป้องกันร่างกายของเราด้วยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังต่อไปนี้ เช่น ไม่ให้ร่างกายได้รับแรงกระแทกซ้ำๆ เป็นเวลานาน คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับรถหรือโดยสารรถยนต์ ไม่เล่นหรือทำกิจกรรมบริเวณที่สูงชันหรือริมบันได หลีกเลี่ยงการยกของหนักมากๆ เพียงเท่านี้เราก็จะห่างไกลการเกิดกระดูกร้าวหรือกระดูกหักได้

☘️ มุมสาระน่ารู้ TardHealth info

ความรู้เพื่อสุขภาพ รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ By TaradHealth

ข้อมูลเพิ่มเติม»

เรื่องที่คุณอาจสนใจ