คอเลสเตอรอลสูง อันตรายกว่าที่คิด
คอเลสเตอรอล จัดเป็นไขมันชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะร่างกายมีการนำคอเลสเตอรอลไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนบางชนิด และใช้เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ในร่างกาย แต่การที่ร่างกายเรามีปริมาณคอเลสเตอรอลมากเกินไป ก็อาจทำให้เป็นผลเสียต่อร่างกาย ได้เช่นกัน
ทุกครั้งที่ไปตรวจสุขภาพ หลายคนคงเคยได้ยินว่า จะต้องมีการตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่พบว่าตนเองนั้นมีระดับคอเลสเตอรอลที่ค่อนข้างสูง แล้วเราเคยสงสัยหรือไม่ว่าคอเลสเตอรอลนั้นมาจากไหน หากมีสูงแล้วจะส่งผลต่อร่างกายอย่างไร ทำไมแพทย์ถึงต้องแนะนำให้เราควบคุมระดับคอลเลสเตอรอล วันนี้เรามีคำตอบมาฝากค่ะ
แต่ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่า การตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดจะมีการตรวจคอเลสเตอรอล 2 ตัว คือ
-
คอเลสเตอรอลชนิดดี หรือ HDL (High-Density Lipoprotein) ทำหน้าที่เป็นตัวนำไขมันที่เกาะอยู่ในผนังหลอดเลือดเลือดกลับไปยังตับ
-
คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หรือ LDL (Low-Density Lipoprotein) ทำหน้าที่เป็นตัวนำไขมันจากตับมาสะสมตามผนังหลอดเลือด และเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย
หากว่าในร่างกายของเรามีปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีมากกว่าคอเลสเตอรอลชนิดดี ก็จะทำให้มีไขมันส่วนเกินสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดและเนื้อเยื่อมากกว่าปกติ ทำให้หลอดเลือดอุดตัน ส่งผลให้เกิดโรคเรื้องรังต่างๆได้เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเส้นเลือดสมองได้
เกณฑ์ปกติของระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
-
ระดับคอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol) น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
-
ระดับ LDL น้อยกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
-
ระดับ HDL มากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
สาเหตุของคอเลสเตอรอลสูง
-
รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อติดมัน อาหารทอด ไข่แดง อาหารทะเล
-
รับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง เพราะน้ำตาลสามารถเปลี่ยนเป็นไขมันและสะสมในร่างกายได้
-
ขาดการออกกำลังกาย ทำให้มีไขมันสะสมตามส่วนต่างๆของร่างกายเพราะไม่ได้รับการเผาผลาญ
-
ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เป็นประจำ เพราะการดื่มเหล้าทำให้ตับได้รับความเสียหาย จึงไม่สามารถรักษาสมดุลของระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายได้ สารจากบุหรี่ก็เป็นอีกตัวที่ขัดขวางการทำงานของคอเลสเตอรอลชนิดดี หรือ HDL ไม่ให้นำไขมันส่วนเกินกลับมายังตับได้ ทำให้เกิดไขมันสะสมตามผนังหลอดเลือด
-
คนอ้วน หรือคนที่มีน้ำหนักเกิน เพราะคนอ้วนจะมีไขมันสะสมมากตามเนื้อเยื่อ ใต้ผิวหนัง และอวัยวะต่างๆ มากกว่าคนปกติ จึงส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดสูงไปด้วย
-
ร่างการมีภาวะผิดปกติบางอย่างเช่น เป็นโรคตับ หรือต่อมไทรอยด์บกพร่อง
-
คนในครอบครัวมีประวัติไขมันในเลือดสูง ก็มีโอกาสที่จะทำเกิดคอเลสเตอรอลสูง ได้เช่นกัน
-
อายุมากขึ้น ความเสี่ยงที่ระดับคอเลสเตอรอลจะสูงก็ยิ่งเพิ่มขึ้น
-
เพศชายจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าเพศหญิงซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนเพศ แต่เมื่อเพศหญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นมาเทียบเท่ากัน
การรักษาภาวะคอเลสเตอรอลสูง
ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ควรควบคุมอาหาร เน้นทานผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง ลดการทานอาหารที่มีไขมันและแป้งสูงโดยไขมันทรานส์ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หันมาออกกำลังกาย ซึ่งนอกจากจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดแล้ว ยังทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้นอีกด้วยแต่หากระดับคอเลสเตอรอลสูงกว่าปกติมาก แพทย์อาจให้ยากลุ่มสเตติน (Statins) เพื่อขัดขวางการผลิตคอเลสเตอรอลในตับ ร่วมกับยากลุ่มไฟเบรต (Fibrate) ซึ่งช่วยลดการสร้าง LDL นอกจากนี้ อาจมีการให้ยาที่ขัดขวางการดูดซึมไขมันในทางเดินอาหาร และยาเสริมกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นไขมันดีร่วมด้วย
การป้องกันไม่ให้คอเลสเตอรอลสูง
-
หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูง และอาหารที่มีแป้งสูง
-
เน้นทานไขมันดีให้ได้ปริมาณพอเหมาะ
-
ทานผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง จะช่วยลดการดูดซึมไขมันได้
-
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
-
ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
☘️ มุมสาระน่ารู้ TardHealth info
ความรู้เพื่อสุขภาพ รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ By TaradHealth
ข้อมูลเพิ่มเติม»
เรื่องที่คุณอาจสนใจ